พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

         พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประกอบด้วยอาคารทรงบุษบก จำนวน 9 องค์ ตั้งอยู่บนฐานชาลารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 3 ชั้น มีบันไดทางขึ้น ทั้ง 4 ทิศ ทิศตะวันตกหันหน้าเข้าพระที่นั่งทรงธรรม ทิศตะวันออกติดตั้งลิฟต์ และทิศเหนือติดตั้งสะพานเกรินสำหรับเชิญพระบรมโกศจากราชรถปืนใหญ่ขึ้นบนพระเมรุมาศ โดยโครงสร้างพระเมรุมาศ ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
         ลานอุตราวรรต หรือ พื้นรอบฐานพระเมรุมาศ มีสระอโนดาดทั้งสี่ทิศและเขามอจำลอง ภายในสระประดับด้วยประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ ได้แก่ ช้าง โค สิงห์  ม้า และสัตว์หิมพานต์ตระกูลต่างๆ
         ฐานชาลาชั้นที่ 1 เป็นชั้นล่างสุด มีฐานสิงห์เป็นรั้วราชวัตร ฉัตร แสดงอาณาเขตพระเมรุมาศ และมีเทวดานั่งคุกเข่าถือบังแทรก ส่วนที่มุมทั้งสี่ของฐานมีประติมากรรมท้าวจตุโลกบาลประทับยืนหันหน้าเข้าสู่บุษบกองค์ประธาน
         ฐานชาลาชั้นที่ 2 มีหอเปลื้องทรงบุษบกรูปแบบเดียวกันตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่ ใช้สำหรับจัดเก็บพระโกศทองใหญ่และพระโกศไม้จันทน์ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับงานพระราชพิธี 
         ฐานชาลาชั้นที่ 3 ฐานบุษบกประธานประดับประติมากรรมเทพชุมนุม จำนวน 132 องค์โดยรอบ รองรับด้วยฐานสิงห์ซึ่งประดับประติมากรรมครุฑยุดนาคโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง มุมทั้งสี่ของฐานชั้นที่ 3 นี้ เป็นที่ตั้งของซ่างทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น ใช้สำหรับพระพิธีธรรม 4 สำรับ นั่งสวดอภิธรรมสลับกันไปตลอดนับตั้งแต่พระบรมศพประดิษฐานบนพระจิตกาธานจนกระทั่งถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จ
         จุดกึ่งกลางชั้นบนสุด มีบุษบกองค์ประธานตั้งอยู่ เป็นอาคารทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ภายในมีพระจิตกาธาน เป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศ ผนังโดยรอบเปิดโล่ง ติดตั้งพระวิสูตร (ม่าน) และฉากบังเพลิงเขียนภาพพระนารายณ์อวตารตอนบน และภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตอนล่าง ที่ยอดบนสุด ประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 9 ชั้น)


ข้อมูลจาก : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร

  • ทั้งหมด
  • พระเมรุมาศ
+
สระอโนดาตเป็นที่สรงน้ำแห่งพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย รวมถึงผู้วิเศษ เช่น ฤๅษี วิทยาธร ยักษ์ นาค เทวดา เป็นต้น
+
ตั้งอยู่บนฐานชาลาที่ 3 สื่อถึง เหล่าองค์เทพต่าง ๆ ที่มาเฝ้ารอรับเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ยังเขาบริภัณฑ์
+
แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อสุนัขทรงเลี้ยง
+
เปรียบดั่งทางขึ้นเขาพระสุเมรุที่ล้อมรอบด้วยป่าหิมพานต์ และมีสัตว์หิมพานต์มากมาย ซึ่งอาศัยอยู่รอบสระอโนดาตทั้ง 4 ทิศ แต่ละทิศก็จะมีสัตว์หิมพานต์แต่ละประเภทอาศัยอยู่
+
ตามความเชื่อในคติพุทธ พญานาคเปรียบเป็นสัญลักษณ์ของสายน้ำ และเสมือนดั่งสะพานสายรุ้ง เชื่อมโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ โดยภพภูมิของพญานาคคือเทพกึ่งสัตว์ อันเป็นที่มาของประติมากรรมราวบันไดนาคประดับพระเมรุมาศพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
+
อาคารประกอบพระเมรุมาศเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นชั่วคราวสำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยอาคารประกอบพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ก่อสร้างขึ้นตามโบราณราชประเพณีอย่างสง่างาม ประกอบด้วย พระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุน ทับเกษตร ทิม ราชวัตร และพลับพลายก
+
ท้าวจตุโลกบางทั้ง 4 เป็นเทวดาผู้ป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่มนุษย์โลกไว้ทั้ง 4 ทิศ
+
มหาเทพ 4 องค์ เสด็จลงมาเพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสู่สรวงสวรรค์
+
คณะผู้จัดสร้างพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จัดสวนแปลงนาข้าวเลข 9 อันงดงามขึ้นด้านหน้าพระเมรุมาศ
+
ฉากบังเพลิงในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้ง 4 ทิศ ด้านหน้าเป็นภาพพระนารายณ์อวตารในปางต่าง ๆ 8 ปาง พร้อมสัตว์พาหนะ และกลุ่มเทวดา ด้านล่างเป็นภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหมวดดิน น้ำ ลม และไฟ จำนวน 16 โครงการ
+
การวางผังพระเมรุมาศฯ มีความเชื่อมโยงกับ ศาสนสถานโบราณสำคัญที่อยู่บริเวณรอบมณฑลพิธีท้องสนามหลวง
+
หอเปลื้อง = ที่เก็บอุปกรณ์สำหรับพระราชพิธี
+
ซ่าง = ที่สำหรับพระสวด
+
พระจิตกาธาน คือ เชิงตะกอน หรือฐานที่ทำขึ้นสำหรับเผาศพ เป็นคำที่ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์
+
พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น กรมศิลปากรยึดหลักแนวคิดในการออกแบบ โดยคำนึงถึงความสมพระเกียรติตามหลักโบราณราชประเพณี และคติความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ
+
"พระเมรุมาศ" และ "พระเมรุ" รวมถึงคำว่า "เมรุ" เฉย ๆ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
+
"สมมติเทพ" หมายถึง พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทพลงมาจุติเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อประกอบคุณความดีและสะสมบารมี เมื่อเสด็จสวรรคตก็กลับขึ้นสรวงสวรรค์
+
คติความเชื่อเรื่องโลกและจักรวาลในหนังสือไตรภูมิพระร่วงเป็นที่มาของการสร้างพระเมรุมาศ ซึ่งพระเมรุมาศเป็นการ จำลองโลกและจักรวาล โดยเปรียบองค์พระเมรุมาศเสมือน เขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล
Top