ข่าวส่วนกลาง
กรมสุขภาพจิต ดูแลใจคนไทยทั่วประเทศ คลายความเศร้าสร้างความหวังช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ
๐๓ ตุลาคม ๒๕๖๐

นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในภาพรวมของการดูแลจิตใจประชาชนที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2559 จนถึงปัจจุบัน ได้จัดทีม MCATT จากหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิตทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้บริการปฐมพยาบาลทางใจกับประชาชน โดยกลุ่มที่พบภาวะสุขภาพจิตมากที่สุด คือ กลุ่มที่มีภาวะเครียด รองลงมาคือ กลุ่มที่เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า และกลุ่มที่พบปฏิกิริยาโศกเศร้าจากการสูญเสีย ตามลำดับ โดยทั้งหมดได้รับการปฐมพยาบาลทางใจ  ได้รับคำปรึกษา รักษาด้วยยา และเอกสารความรู้ด้านสุขภาพจิต รวมถึงสามารถขอรับบริการปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต โทร.1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม สภาพจิตใจของคนไทยเริ่มดีขึ้น สามารถปรับตัวได้ จากการรวมพลังแปลงความโศกเศร้าเป็นพลังทำความดี สืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ ทำให้เกิดกำลังใจและมีความเข้มแข็งทางจิตใจได้เร็วขึ้น

          อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ อาจกระตุ้นประสบการณ์ความสูญเสียและความเครียดในอดีต ทำให้เกิดภาวะสุขภาพจิตเกิดขึ้นได้ สำหรับกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช หากมาร่วมพระราชพิธี ไม่ควรหยุดรับประทานยาและควรมีญาติมาด้วย อย่างไรก็ตาม หากพบผู้มีปัญหาสุขภาพจิตที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ หรือเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น กรมสุขภาพจิตได้เตรียมหน่วยงานในสังกัดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเร่งด่วนไว้แล้วในช่วงพระราชพิธี ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ

          สำหรับการดูแลจิตใจประชาชนช่วงตุลาคม 2560 นี้ ได้จัดทีม MCATT ดูแลจิตใจประชาชนไว้ ดังนี้ วันที่ 1-7 ปฏิบัติงานเวลา 09.00-17.00 น. โดยจัดทีม MCATT 1 ทีม ให้บริการดูแลประชาชน ณ บริเวณข้างศาลหลักเมืองด้านทิศใต้ วันที่ 18-22 ปฏิบัติงานเวลา 09.00-17.00 น. วันที่ 23-29 ปฏิบัติงานเวลา 08.00-20.00 น. โดยจัดทีม MCATT จำนวน 2 ผลัด เวลา 08.00-14.00 น. และ 14.00 -20.00 น. สำหรับในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ปฏิบัติงานเวลา 08.00-24.00 น. โดยจัดทีม MCATT จำนวน 3 ผลัด เวลา 08.00-12.00 น. เวลา 12.00-18.00 น. และ 18.00-24.00 น. ซึ่งแนวทางการดูแลจิตใจยึดหลักปฐมทางใจ 3 ส. คือ 1.สอดส่องมองหา (Look) ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เช่น แสดงอาการเสียใจรุนแรง กินนอนไม่ได้ 2.ใส่ใจรับฟัง (Listen) และ 3.ส่งต่อเชื่อมโยง (Link) ตามความจำเป็นพื้นฐาน เช่น น้ำ อาหาร และยา

ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่ให้บริการ จะรุกเข้าหาประชาชนโดยใช้สื่อหลากหลาย เข้าร่วมพูดคุย ให้ความรู้ ตลอดจนเชิญชวนประชาชนรวมพลังแปลงความโศกเศร้าเป็นพลังทำความดี คิดถึงพ่อ (ไม่เศร้า)...เราทำดี ผ่านศิลปินดารา เพื่อสร้างความหวังและกำลังใจที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการนำพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส หรือ บทเพลงพระราชนิพนธ์ มาเป็นหลักธรรมในการดำเนินชีวิต เช่น บทเพลง ใกล้รุ่ง ที่แฝงความหมายการรอคอย ความหวัง ความสำเร็จที่ดีกำลังจะบังเกิดขึ้น เป็นต้น

 

นาฏสรวง อินทร์แก้ว /ข่าว

นิยะดา  พันธุ์เพ็ชร /บรรณาธิการข่าว
ที่มา
: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Top